แผงโซล่าเซลล์ทำงานอย่างไร

แผงโซล่าเซลล์ทำงานอย่างไร

แผงโซล่าเซลล์ใช้แสงจากดวงอาทิตย์เพื่อสร้างพลังงานให้กับบ้านเรือนต่างๆมากมาย



ในความเป็นจริง แผงโซล่าเซลล์ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอย่างที่เข้าใจมาตลอด  สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นเครื่องคิดเลขที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน  บางครั้งเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเวทมนต์ที่นำพลังงานจากดวงอาทิตย์มาแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้กับโทรทัศน์ หรือเครื่องซักผ้าของเรา ทั้งๆที่แผงโซล่าเซลล์ค้นพบมาเกือบ 200 ปีแล้ว โดยเป็นหลักการวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจซึ่งเรียกว่าโฟโตโวลตาอิก (Photovoltaic) ที่แปลงพลังงานรูปแบบหนึ่งให้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงอาทิตย์

ดวงอาทิตย์เป็นขุมพลังมหาศาลที่ให้พลังงานระดับ10 เดซิเลียน (เท่ากับ1 ตามด้วยศูนย์ 34ตัว) จูลต่อปี โลกทั้งใบรับพลังงานแสงแดดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทำให้โลกใบนี้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ และมีสภาพอบอุ่นเพียงพอให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น จะเป็นประโยชน์มากขนาดไหนที่จะสามารถเปลี่ยนพลังงานบางส่วนให้อยู่ในรูปแบบที่เราสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น



โดยหลักการนั้น สิ่งที่พืชทำผ่านการสังเคราะห์แสง โดยใช้แสงเพื่อรวมคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศให้เป็นน้ำตาลที่พืชสามารถเผาผลาญเพื่อเจริญเติบโต  ในขณะที่แผงโซล่าเซลล์ที่เห็นบนหลังคาก็ทำสิ่งที่คล้ายคลึงกัน โดยแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า

 

 

ภาพนี้ แสดงให้เห็นว่าแผงโซล่าเซลล์ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อจ่ายพลังงานให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในบ้านของคุณอย่างไร

   

หลักการทำงานคือ   เมื่อแสงกระทบกับอะตอม อิเล็กตรอนตัวใดตัวหนึ่งรอบๆ อะตอมก็ดูดกลืนแสงเข้าไป ซึ่งจะทำให้พลังงานของอิเล็กตรอนเพิ่มขึ้น สำหรับวัสดุบางชนิด (เช่น โลหะและซิลิกอนบางชนิด) พลังงานพิเศษนี้เพียงพอที่จะทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากอะตอม ปล่อยให้มันเคลื่อนที่ภายในโครงสร้างผลึกวัสดุ หากคุณสร้างคริสตัลสองชั้น คุณสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้

 

ชั้นหนึ่งเรียกว่าสารกึ่งตัวนำชนิดN มีส่วนผสมทางเคมีคือ ฟอสฟอรัส ซึ่งมีคุณสมบัติในการสร้างอิเล็กตรอนขณะที่อีกชั้นหนึ่งมีส่วนผสมของโบรอนซึ่งต้องการดูดซับอิเล็กตรอน เรียกว่าสารกึ่งตัวนำชนิดP อิเล็กตรอนเหล่านี้ไม่สามารถกระโดดข้ามรอยต่อ(เรียกว่า PN Junction) ของวัสดุทั้งสองนี้ได้อย่างง่ายดายดังนั้นจึงมีความแตกต่างกันของแรงดันไฟฟ้าระหว่างชั้นทั้งสอง หากคุณต่อวงจรเข้ากันในแต่ละด้านของแผงนี้ แรงดันไฟฟ้านั้นสามารถใช้จ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือชาร์จแบตเตอรี่ได้

 

เซลล์แสงอาทิตย์แต่ละเซลล์สร้างแรงดันไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปประมาณ 0.5โวลท์ และปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ขึ้นอยู่กับขนาดของเซลล์ หากคุณเชื่อมต่อหลายเซลล์เข้าด้วยกัน แรงดันไฟฟ้านี้ (โวลท์) จะเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น หากคุณต่อสายไฟแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาเข้าด้วยกัน คุณก็จะสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้ภายในบ้านได้อย่างสบาย

 

ในการทำงาน แผงโซล่าเซลล์จะผลิตไฟฟ้ากระแสตรง (DC) แทนที่จะเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เหมือนกับที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าของเรา ดังนั้น เราต้องแปลงพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ก่อนจึงจะสามารถนำไปใช้กับเครื่องปรับอากาศ หรือ เตาไมโครเวฟของเราได้ 

 


 นอกเหนือจากปริมาณแสงที่จะนำมาผลิตกระแสไฟแล้ว  โซล่าเซลล์ยังมีข้อจำกัดการทำงานอื่นๆ อีกด้วย กล่าวคือ ในกระบวนการนี้ ปริมาณพลังงานที่ได้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของวัสดุที่ดูดซับแสงและจุดเชื่อมต่อระหว่างวัสดุทั้งสอง การออกแบบแต่ละส่วนมีผลต่อการดูดซับเฉพาะช่วงความยาวคลื่นแสงบางช่วงเท่านั้น(Wavelength)  ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการออกแบบแผงโซล่าเซลล์แบบใหม่ขึ้นสามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเหล่านี้ได้โดยรวมวัสดุหลายอย่างไว้ด้วยกัน (เรียกว่าmultijunction cells) ที่สามารถดูดซับช่วงความยาวคลื่นแสงที่แตกต่างกันเพื่อรับพลังงานที่มีอยู่ได้มากขึ้น

 

แผงโซล่าเซลล์มีราคาสูง แต่แนวโน้มราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงที่ผ่านมา แผงโซล่าเซลล์ไม่ได้มีราคาถูกนัก เพราะต้องการวัตถุดิบที่มีขนาดใหญ่และมีองค์ประกอบทางเคมีที่แม่นยำมาก ส่วนอื่นๆ ของระบบ (เช่น อุปกรณ์ควบคุม) ก็มีราคาแพงเช่นกัน เนื่องจากต้องสามารถรองรับพลังงานจำนวนมากได้ 

อย่างไรก็ตาม ราคาของแผงโซล่าเซลล์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และโรงงานใหม่ๆ ก็กำลังเปิดขึ้นเพื่อผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ แม้ว่าพลังงานแสงอาทิตย์อาจจะไม่สามารถทดแทนวิธีการผลิตไฟฟ้าแบบอื่นๆได้อย่างสิ้นเชิง แต่เราพิจารณาว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่จะมีสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ 

แผงโซล่าเซลล์คืนทุนเมื่อไหร่

ก่อนลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ้านของคุณ อย่าลืมคำนวณระยะเวลาคืนทุนไว้ก่อน

ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่แผงโซล่าเซลล์จะเริ่มประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณได้

ในปัจจุบันระบบพลังงานแสงอาทิตย์มีการติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนจะตัดสินใจลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ้านของคุณ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าคุณใช้เวลานานแค่ใดจึงคุ้มค่าการลงทุนที่คุณต้องจ่ายไป

ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่อยู่อาศัยมีราคาโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 50,000 – 300,000บาทขึ้นอยู่กับขนาดกำลังการผลิต ระบบที่เลือกใช้ และอุปกรณ์ภายในต่างๆ  ถึงแม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะแตกต่างกันมากก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ติดตั้งและจำนวนของแผงที่เลือก  ดังนั้นเราควรคำนวณว่า เราจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะคุ้มค่าการลงทุน และเริ่มประหยัดค่าไฟได้จริงๆ เราจะแสดงวิธีประมาณการระยะเวลาคืนทุนสำหรับแผงโซล่าเซลล์


อ่านเพิ่มเติม : ข้อดีและข้อเสียของแผงโซล่าเซลล์

 

แผงโซล่าเซลล์คุ้มค่าจริงหรือไม่

ระยะเวลาคืนทุน(Payback Period)คือช่วงเวลาที่ใช้เพื่อสร้างรายได้คืนจากการลงทุนเริ่มแรกของคุณ แผงโซล่าเซลล์สามารถช่วยให้คุณประหยัดเงินค่าไฟได้ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งเพื่อชดเชยกับเงินที่จ่ายไปแล้ว   ดังนี้ คุณจะประหยัดเงินในแต่ละเดือนเท่าไรขึ้นอยู่กับขนาดของระบบโซล่าเซลล์ของคุณ การใช้พลังงานภายในบ้านและปัจจัยอื่นๆ 

การคำนวณระยะเวลาคืนทุนแต่ละกรณี มีลักษณะแตกต่างกันออกไป รวมถึงความแตกต่างของต้นทุนค่าพลังงานตามพื้นที่ของคุณ แต่ต่อไปนี้คือแนวทางที่ช่วยให้คุณประเมินว่าเมื่อใดจะถึงจุดคุ้มทุน 

ค้นหาจำนวนเงินที่คุณต้องจ่ายสำหรับระบบโซล่าเซลล์

เบื้องต้น คุณต้องประเมินว่าเงินลงทุนของคุณควรจะเป็นเท่าใด นอกจากนั้น คุณควรรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าสำรวจของการไฟฟ้าฯ  ค่าอนุญาตขนานไฟ ค่ายื่นแบบและขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตรวจสอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น พื้นที่รับผิดชอบของ การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

การขายไฟฟ้าส่วนเกินช่วยคุณได้อีกทาง

เจ้าของบ้านสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบโซล่าเซลล์ภายหลังที่เหลือจากการใช้ภายในครัวเรือนแล้ว  แม้ว่าราคารับซื้อในปัจจุบันจะลดลงมากเมื่อเทียบจากเมื่อหลายปีก่อน จนอยู่ในระดับ 2.20 บาทก็ตาม  แต่ก็ยังมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง และสามารถนำมาคำนวณระยะเวลาการคืนทุนของคุณให้ได้เร็วยิ่งขึ้น โครงการรับซื้อไฟในปัจจุบันจะมีกำหนดสิ้นสุดปลายปี 2564 ติดต่อเราเพื่อสอบถามรายละเอียด

คุณต้องรู้ว่าคุณจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าไหร่

เบื้องต้น คุณต้องประเมินว่า คุณจะได้รับพลังงานทั้งหมดมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ แม้ว่าที่พักอาศัยบางแห่งจะสามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เกือบจะทั้งหมดหรือขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ก็ตามแต่ในความเป็นจริง บ้านพักอาศัยจะต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าฯ เพื่อใช้ในช่วงค่ำมืดที่ไม่มีแดดแล้วเพื่อครอบคลุมการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆได้ทั้งหมด(ดูเพิ่มเติม บ้านของคุณต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์จำนวนเท่าไหร่

คุณอาจประเมินคร่าวๆได้ โดยตรวจสอบบิลค่าไฟของคุณเฉลี่ยย้อนหลังประมาณ6 เดือน ดูการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศช่วงต่างๆ รวมทั้งเหตุปัจจัยอื่นๆ เช่น Work from Homeสมมติว่าคุณได้รับพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์100% จากการใช้งานปัจจุบันและคุณจ่าย


 

 

ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 750บาทต่อเดือน (ข้อมูลเฉลี่ยการใช้ไฟของครัวเรือนประจำปี 2563 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) หรือ 9,000 บาทต่อปี ตอนนี้คุณมีข้อมูลที่จำเป็นในการคำนวณระยะเวลาคืนทุนสำหรับระบบโซล่าเซลล์แล้ว 

ในหลายกรณี คุณอาจวัดหน่วยไฟฟ้าที่มิเตอร์ของคุณในช่วงเวลาเดียวกันที่ยังคงมีแสงแดด เช่น 6.30- 18.00 น. เป็นเวลา 15-30 วัน เพื่อเทียบเคียงจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าของคุณในช่วงเวลาหนึ่งด้วยก็ได้

คำนวณว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะคืนทุน

นำปัจจัยที่เราค้นมาก่อนหน้านี้มาคำนวณระยะเวลาคืนทุน โดยนำเงินลงทุนค่าระบบโซล่าเซลล์ของคุณหารด้วยบิลค่าไฟที่คุณต้องจ่ายแต่ละปี เช่นค่าไฟปีละ 9,000 บาท คุณจะได้ระยะเวลาคืนทุนที่คุณได้จ่ายออกไป จากตัวอย่างข้างต้น ให้คุณหารเงินลงทุน สมมติเช่นจำนวน 50,000 บาทด้วยบิลค่าไฟในแต่ละปีๆละ9,000 บาท ผลที่ได้คือระยะเวลาคืนทุนเพียง 5ปีครึ่งเท่านั้น

ในบางครั้ง คุณอาจมองว่า ช่วงเวลาดังกล่าวใช้เวลาค่อนข้างนานก็ตาม แต่แผงโซล่าเซลล์มีประสิทธิภาพการผลิตได้นานถึง 25 ปี แม้ว่าประสิทธิภาพการผลิตจะลดลงตามช่วงเวลาก็ตาม แต่โรงงานก็ประกันว่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 80% ในปีที่ 25  มาถึงตอนนี้ คุณจะพบว่า การลงทุนของระบบโซล่าเซลล์มีความคุ้มค่าสูงมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนอย่างอื่น เช่น การฝากเงินในธนาคาร ฯลฯ

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรรู้

ปัจจัยบางอย่างอาจทำให้ระยะเวลาคืนทุนของคุณยาวนานขึ้น เช่น ก่อนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ คุณต้องตรวจสอบสภาพหลังคาก่อน เพราะแผงสามารถอยู่ได้นานถึง 25 ปี ดังนั้นหากหลังคาของคุณไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม คุณอาจต้องปรับปรุงก่อนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ดังนั้นอย่าลืมเพิ่มค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในการลงทุนของคุณอีกด้วย

โดยรวมแล้วพลังงานแสงอาทิตย์อาจเป็นข้อเสนอที่มีราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในระยะยาวที่เราจะได้รับนั้นก็เพียงพอกับเงินลงทุนเหล่านี้ได้ และยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของเราในปีถัดไปอีกด้วย

 

 

5 ข้อที่ต้องพิจารณาก่อนลงทุนแผงโซลาร์เซลล์

นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้

 

การใช้ไฟฟ้าในบ้านของคุณด้วยพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์มีประโยชน์มากมาย คุณช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดค่าไฟฟ้า และยิ่งสบายใจเมื่อมีส่วนทำให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนไปใช้ระบบโซลาร์เซลล์นั้นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ หากคุณเพิ่งเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนสำหรับบ้าน สิ่งเหล่านี้อาจแปลกใหม่และไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน คุณต้องการแผงโซลาร์เซลล์ประเภทใด คุณจะติดตั้งได้อย่างไร คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคุณกำลังได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุน เหล่านี้คือคำถามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางเมื่อคุณเริ่มศึกษาที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน

เราแนะนำว่า คุณควรพิจารณาประเด็นต่างๆ 5 ประการต่อไปนี้ก่อนที่จะลงทุนในระบบโซลาร์เซลล์

1. พื้นที่ติดตั้ง

ก่อนจะซื้อแผงโซลาร์เซลล์ คุณต้องแน่ใจว่าคุณมีพื้นที่สำหรับวางแผงโซลาร์เซลล์ได้จริงๆ แผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากติดตั้งอยู่บนหลังคาบ้าน และบ้านเก่าอาจต้องมีการซ่อมแซม ดัดแปลง หรือแม้แต่เปลี่ยนใหม่ทั้งหมดก่อนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้

แผงโซลาร์เซลล์สามารถติดตั้งได้ในบางพื้นที่ หากคุณมีที่ว่าง วิธีนี้เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้หากการติดตั้งบนหลังคามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปหรือไม่สามารถทำได้

ไม่ว่าคุณจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ใดก็ตาม คุณต้องแน่ใจว่าแผงเซลล์ได้ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด ในประเทศไทย ผู้ให้บริการจะเลือกหันแผงโซลาร์เซลล์ไปทางทิศใต้ เพราะจะได้รับแสงที่ดีที่สุดเฉลี่ยตลอดทั้งปี 

2. แผงโซลาร์เซลล์มีมากกว่าหนึ่งประเภท

แผงเซลล์แสงอาทิตย์ไม่เหมือนกันทั้งหมด คุณต้องพิจารณาทางเลือกของคุณระหว่างแผงโซลาร์เซลล์ หรือแผงความร้อนรับแสงอาทิตย์  หลักการทำงานของแผงเหล่านี้มีลักษณะแตกต่างกัน  ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ทำหน้าที่แปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง แต่แผงความร้อนรับแสงอาทิตย์จะรับแสงแดดและถ่ายเทความร้อน หลายกรณีมักใช้สำหรับทำน้ำร้อนภายในบ้าน อาคารต่างๆ

นอกจากนั้น แผงโซลาร์เซลล์ยังมีหลายประเภท ตั้งแต่แผงโมโนคริสตัลไลน์ แผงโพลีคริสตัลไลน์ หรือ แผง Thin film คุณควรคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิต ความทนทาน และการรับประกัน สิ่งเหล่านี้แตกต่างกันไป และแผงบางอย่างเท่านั้นที่จะเหมาะกับความต้องการของคุณมากกว่า อย่าลืมค้นคว้าและค้นหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และประสบการณ์ของผู้ใช้อื่นๆ เพื่อรับข้อมูลที่ดีที่สุดก่อนตัดสินใจ(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ แผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์ กับ แผงโซลาร์โพลีคริสตัลไลน์)

3. ตรวจสอบว่าคุณต้องขออนุญาตหน่วยงานใดบ้างหรือไม่

ก่อนดำเนินการติดตั้งใดๆ คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆทั้งหมด นอกเหนือจากการยื่นขออนุญาตหน่วยงานด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการกิจการพลังงาน หรือการไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟมายังบ้านของคุณก็ตาม   คุณยังมีหน้าที่ต้องแจ้ง หรือยื่นขออนุญาต (แล้วแต่กรณี) กับหน่วยงานท้องถิ่น ตามกฎหมายควบคุมอาคารอีกด้วย

โปรดทราบว่าการขอใบอนุญาตที่จำเป็นของคุณอาจใช้เวลาพอสมควร ทั้งในการยื่นและเพื่อรับการอนุมัติ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อย่างถูกต้อง อาจจะจำเป็นต้องมีความอดทนพอสมควร ติดต่อเรา เพื่อขอทราบบริการด้านเอกสารต่างๆของเรา

4. พิจารณาค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แผงโซลาร์เซลล์ช่วยคุณประหยัดเงินได้ในระยะยาว และยิ่งคุณใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนนานขึ้นเท่าไร คุณก็จะยิ่งประหยัดเงินได้มากขึ้นเท่านั้น คุณจะเห็นผลลัพท์ผ่านบิลค่าไฟฟ้าของคุณที่ลดลง อย่างไรก็ตาม คุณมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณา

เงินลงทุนเริ่มแรกของระบบโซลาร์เซลล์มีจำนวนค่อนข้างสูง คุณต้องพิจารณาว่าสามารถชำระค่าใช้จ่ายนี้ทั้งหมดได้หรือไม่ หรือคุณจำเป็นต้องใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือไม่ หรือแม้แต่โปรโมชั่นผ่อนรายเดือนที่น่าสนใจ ติดต่อเรา สำหรับโปรโมชั่นต่างๆ

กระบวนการติดตั้งอาจต้องจ้างผู้ให้บริการมืออาชีพ และคุณจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงการดัดแปลงใดๆ ที่จำเป็นในบ้านของคุณเพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ การขออนุญาตต่างๆ อาจมีค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว สุดท้าย ให้พิจารณาถึงการบำรุงรักษาที่อาจเกิดขึ้นตลอดอายุการใช้งาน

5. สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่

ขณะที่ระบบโซลาร์เซลล์จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร แต่ภาครัฐก็จูงใจให้เจ้าของบ้านที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์คืนได้ แม้จะไม่เท่ากับราคาที่เราซื้อมาใช้ก็ตาม แต่ก็มีระยะเวลารับซื้อถึง 10ปี นานเพียงพอที่จะทำให้คุณคืนทุนจากการลงทุนได้เร็วยิ่งขึ้น  (โครงการที่มีในปัจจุบันจะสิ้นสุดระยะเวลาเข้าร่วมโครงการภายในสิ้นปี 2564)

โดยสรุป แผงโซลาร์เซลล์เหมาะกับคุณหรือไม่

แผงโซลาร์เซลล์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เหมาะกับทุกบ้านหรือทุกงบประมาณ บ้านพักอาศัยของคุณอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างเต็มที่ หรือขั้นตอนการติดตั้งอาจเผยให้เห็นถึงปัญหาอื่นๆในบ้านของคุณที่จำเป็นต้องแก้ไข สุดท้ายคุณอาจพบว่าแผงโซลาร์เซลล์มีราคาแพงเกินไป หรือไม่ตอบโจทย์การลงทุนของคุณก็เป็นได้

แต่สำหรับหลาย ๆ คน แผงโซลาร์จะช่วยลดบิลค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยเฉพาะในช่วง Work from Home ได้อย่างแน่นอน รวมทั้งยังลดการปล่อยคาร์บอน และพึ่งพาระบบจ่ายไฟฟ้าที่บางครั้งจ่ายติดๆดับแบบเดิมลดน้อยลง

 

Visitors: 41,444